การเพาะเห็ดฟางในถุง,เห็ด,เห็ดฟาง,อาชีพ


การเพาะเห็ดฟางในถุงสามารถจัดหาวัสดุอุปกรณ์อย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องจัดซื้อใหม่ส่วนมากใช้วัสดุใช้แล้วนำมาทำความสะอาด และปรับแก้ให้มีความเหมาะสมในการนำมาใช้ อุปกรณ์ที่ใช้เพาะเห็ดฟางได้แก่
1 ถุงเพาะเห็ดฟาง
2 เชื้อเห็ดฟาง
3 อาหารเสริม
4 อาหารคลุกเชื้อเห็ดฟาง
5 วัสดุเพาะ
6 เชือกมัดถุง
สำหรับการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวมีวิธีการเตรียมดังนี้
1 ถุงเพาะเห็ดฟาง
ถุงเพาะเห็ดฟางเป็นถุงปุ๋ยเคมีที่ล้างทำความสะอาดแล้ว หรือถุงบรรจุข้าวสาร อาหารสัตว์ โดยเลือกถุงที่มีขนาด 50 กิโลกรัม นิยมใช้สีฟ้าหรือสีขาว ซึ่งให้ผลดีสำหรับเพาะเห็ดฟางในถุง และสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกประมาณ 5-6 ครั้ง ไม่ควรใช้ถุงพลลาสติกชนิดถุงพลาสติกสีดำ สีเหลืองหรือสีน้ำเงิน เนื่องจากการระบายอากาศไม่ดี ทำให้เห็ดฟางเกิดดอกน้อย ซึงอาจจะไม่เกี่ยวกับสีของถุงโดยตรง แต่อาจจะเกี่ยวกับลักษณะการถ่ายเทอากาศ ความชื้น อุณหภูมิที่ผ่านเข้าออกได้ การเพาะเห็ดฟางในถุง 1 ถุง ใช้วัสดุเพาะเห็ดฟางที่เหมาะสม ควรบรรจุเพาะเห็ดฟางประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อถุง
2 เชื้อเห็ดฟางที่ดี
เชื้อเห็ดฟางจัดเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด ในการเพาะเห็ดฟางทุกวิธี ควรคัดเลือกเชื้อเห็ดฟางที่ดีมีคุณภาพ แลดะตรงตามที่ตลาดต้องการ เชื้อเห็ดฟางที่ผลิตในท้องถิ่นจะมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เชื้อเห็ดฟาง ถุง สามารถใช้เพาะเห็ดฟางได้ 4 ถุง
3 อาหารเสริม
อาหารเสริมเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดฟาง เพื่อให้เชื้อเห็ดฟางมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แข็งแรงและให้ผลผลิตสูง อาหารเสริมที่นิยมใช้มีหลายชนิด ซึ่งดัดแปลงตามความเหมาะสมตามวัสดุที่มีอยู่ในห้องถิ่น เช่นผักตบชวาสด ไส้นุ่น ดินร่วนผสมปุ๋ยคอกแห้ง ต้นกล้วยสดหั่นตากแห้งและขี้ฝ้าย การเลือกใช้อาหารเสริมควรพิจารณาถึงคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1 ความสะอาดปราศจากเชื้อราหรือโรคพืช
2 ต้องอยู่ในสภาพที่แห้ง(ยกเว้นผักตบชวา)โดยเฉพาะ ไส้นุ่น ขี้ฝ้าย และปุ๋ยคอก
3 สามารถย่อยสลายได้ง่าย
4 ไม่มีสารพิษจากวัสดุที่เป็นอาหารเสริม เช่น สารแทนนิน เพราะจะทำให้เห็ดฟางไม่เจริญเติบโต
5 ไม่ควรใช้สารเคมีที่เป็นพิษตกค้าง เช่นสารกำจัดเชื้อราประเภทดูดซึม
6 จัดหาง่ายมีอยู่ในท้องถิ่นตลอดทั้งปี
4 อาหารคลุกเชื้อเห็ดฟาง
อาหารคลุกเชื้อเห็ดฟางเป็นอาหารที่ไปช่วยกระตุ้นเชื้อเห็ดฟางในระยะแรกๆ ทำให้เส้นใยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อาหารวัสดุคลุกเชื้อเห็ดฟางเป็นวัสดุประเภทคาร์โบไฮเดรต แต่ถ้าใช้มากเกินไปก็อาจจะทำให้ราเขียว หรือราชนิดอื่นเติบโตก่อนเชื้อเห็ดฟางก็ได้ ทำให้เห็ดฟางที่เพาะในถุงนั้นเสียหาย หรือไม่มีผลผลิตเลย อย่างไรก็ตามขอแนะนำการเลือกใช้อาหารคลุกเชื้อ ควรพิจารณาคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1 ต้องเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้งจากเมล็ดธัญพืช แป้งสาลี แป้งข้าวเหนียว และรำละเอียด
2 เป็นอาหารที่ใหม่สะอาดไม่มีกลิ่นอับ ไม่มีจุลินทรีย์อื่นๆ ปนเปื้อน
3 ราคาถูกคุ้มค่าต่อการลงทุนและนำไปใช้
4 เก็บรักษาไว้ได้นานไม่เสียหายง่าย
5 มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตเส้นใยเห็ดฟางเป็นอย่างดี

การใช้อาหารคลุกเชื้อเห็ดฟาง มีจุดประสงค์เพื่อ
1 เป็นวิธีการกระตุ้นเชื้อเห็ดฟางให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หนาแน่น และแข็งแรง ครอบคุลุมวัสดุเพาะเห็ดอย่างรวดเร็ว อันจะมีผลทำให้จุลินทรีย์อื่นๆ ไม่สามารถเข้ามาเจริญเติบโตในวัสดุเพาะเห็ดฟางได้ทัน
2 เป็นอาหารเสริมและกระตุ้นให้กับเส้นใยเห็ดฟางในระยะแรกๆ ทำให้เส้นใยเห็ดฟางไม่ชะงักการเจริญเติบโต และสามารถปรับเข้าวัสดุเพาะได้ดียิ่งขึ้น
ในการใช้อาหารคลุกเชื้อมีข้อควรระวังคือไม่ควรใส่มากเกินไป เพราะจะทำให้เส้นใยเจริญเติบโตก่อนที่เส้นใยเห็ดจะเจริญ
5 วัสดุเพาะ
วัสดุเพาะ หมายถึง วัสดุที่ใช้เป็นอาหารเพาะเห็ดฟาง ควรเป็นวัสดุที่ย่อยได้ง่าย วัสดุเพาะเห็ดฟางดังกล่าว ต้องมีความสะอาดไม่มีเชื้อรา และอยู่ในสภาพที่เหมาะสมในการที่จะนำไปเพาะเห็ดฟางดังกล่าวต่อไป
6 เชือกมัดถุง
เชือกมัดถุงเป็นเชือกฟางหรือเชือกอื่นๆก็ได้ ต้องมีความเหนียวรับน้ำหนักได้ประมาณ 5-6 กิโลกรัม ความยาว 1 เมตร
การใช้พลายแก้วกำจัดโรคเห็ด
ไรขาวใหญ่
การกำจัดไรเห็ด
ปัญหาการเพาะเห็ดฟาง
ราเขียวเพนนิซีเลียมและเพซีโลไมซีส
การเพาะเห็ดในโอ่ง
จุลินทรีย์กำจัดเพลี้ย
ราสีส้ม
ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางในถุง
1 ขั้นตอนการเตรียมวัสดุเพาะเห็ดฟาง
ขั้นตอนนี้มี 3 ขั้นตอนย่อยคือ 1การเตรียมวัสดุหลัก 2 การตรียมผักตบชวาสด และ 3 การเตรียมเชื้อเห็ดฟาง
1.1 การเตรียมวัสดุหลัก เป็นการเตรียมวัสดุเพาะเห็ดฟางในถุง ต้องจัดเตรียมวัสดุเพาะเห็ดฟางในถุง ดังนั้นจึงต้องเตรียมการล่วงหน้า ตามขั้นตอนโดยจัดเตรียมวัสดุแต่ละชนิดให้เหมาะสม
1.2 การเตรียมผักตบชวาสด เป็นการเตรียมผักตบชวาสด เพื่อนำมาเป็นอาหารเสริมสำหรับเพาะเห็ดฟางในถุง วิธีการจัดเตรียมผักตบชวาดังนี้
- เลือกผักตบชวาที่ไม่มีโรค
- ตัดแต่งใบ หรอก้านใบส่วนแก่เกินไป หรือโรคทิ้งออกไปให้หมด
- ล้างทำความสะอาดผักตบชวา
- หั่นผักตบชวาและนำไปใช้ทันที่ โดยใช้อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อวัสดุเพาะเห็ดฟาง 1 ถุง
1.3 เตรียมเชื้อเห็ดฟาง
เป็นการเตรียมเชื้อเห็ดฟางให้พร้อมที่จะเพาะได้ทันที ควรเตรียมการก่อนเพาะเห็ดฟางเพียงเล็กน้อยหรือเตรียมการไปและเพาะไป เป็นขั้นตอนไปตลอดการเพาะ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับเชื้อเห็ดฟางที่จะเพาะได้ เช่นเชื้อเห็ดฟางแห้งกลัง หรือมีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นปะปน ซึ่งจะทำให้การเพาะไม่ค่อยได้ผล

2 ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางในถุง
การเพาะเห็ดฟางในถุงมีขั้นตอนการดำเนินการ การต่อเนื่องจากขั้นตอนการเตรียมวัสดุเพาะเห็ดฟาง มี 2 วิธีคือ
วิธีที่ 1 ใช้วัสดุเพาะผสมกันบรรจุลงในถุง โดยมีส่วนผสม คือ วัสดุเพาะ อาหารเสริม หรือผักตบชวาหั่น และเชื้อเห็ดฟาง จากนั้นนำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากันดังนี้
- นำวัสดุเพาะเห็ดฟางที่เตรียมไว้เกลี่ยแผ่กองออกให้หนาประมาณ 2-3นิ้ว
- นำเชื้อเห็ดฟางที่เตรียมไว้แล้ว ผสมคลุกเคล้ากับวัสดุเพาะเห็ดฟางให้ทั่ว
- นำวัสดุเพาะเห็ดฟางที่ผสมด้วยเชื้อเห็ดฟางแล้ว บรรจุลงในถุงประมาณ 5 กิโลกรัม ยกกระแทกกับพื้นหรือใช้มือกดเพื่อให้วัสดุเพาะแน่นพอสมควรกดจากภายนอกให้วัสดุเพาะเห็ดฟางมีความหนาประมาณ 20 เชนติเมตร
- จับและรวบปากถุงเป็นจีบเข้าหากัน แล้วมัดปากถุงด้วยเชือกให้แน่น โดยมัดในจุดที่สูงที่สุดเพื่อให้มีลักษณะเป็นกระโจม
- นำถุงบรรจุเพาะเห็ดฟางไปตั้งไว้ หรือแขวน ไว้ในที่ ที่มีความชื้น เช่นใต้ร่มเงาต่างๆหรือใต้ร่มไม้ก็ได้ ประมาณ 8-10 วัน ดอกเห็ดฟางจะขึ้น บนผิวเพาะเห็ดฟางภายในถุง และเมื่อดอกเห็ดฟางมีความเหมาะสมก็สามารถเก็บเกี่ยวได้

วิธีที่ 2 การเพาะเห็ดฟางแบบจัดเรียงวัสดุเพาะ ที่เตรียมไว้เป็นชั้นในถุงเพาะ โดยการเรียงวัสดุเพาะเป็น 3 ชั้น คือใส่วัสดุเพาะไว้ด้านล่างในถุงแล้วกดให้หนาประมาณ 20 เซนติเมตร จากนั้นใส่อาหารเสริมหรือผักตบชวาสดหั่นวางเป็นชั้นเหนือวัสดุเพาะ และสุดท้ายใส่เชื้อเห็ดฟางที่เตรียมไว้ เสร็จแล้ว ใส่เป็นชั้นบนผักตบชวาสดหั่นแล้วมัดปากถุงและนำไปเพาะในสถานที่เพาะ

การปฏิบัติดูแลการเพาะเห็ดฟางในถุง
1. อุณหภูมิ มีความสัมพันธ์กับความชื้นในโรงเรือนในฤดูฝน และฤดูร้อนช่วงวันแรกถึงวันที่ 4 ของการเพาะเห็ดฟางในถุง ส่วนฤดูหนาวช่วงวันแรกถึงวันที่ 6 ของการเพาะเห็ดฟางในถุง เป็นช่วงเวลาที่เชื้อเจริญเติบโต และต้องการอุณหภูมิประมาณ 37-40 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิอยู่ที่ 30-35 องศาเซลเซียส เวลาลากลางวัน ในช่วงเวลา 13.00-15.00 นาฬิกา ส่วนช่วงเลยวันดังกล่าวคือ ในฤดูร้อนหรือฤดูฝน ช่วงวันที่ 5-8 ของการเพาะเห็ดฟาง ส่วนช่วงฤดูหนาวช่วงวันที่ 7-12 เห็ดฟางต้องการอุณหภูมิภายในวันสดุเพาะ28-32 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิภายในโรงเรือนอยู่ที่ 25-27 องศาเซลเซียส ในช่วงนี้เชื้อเห็ดฟางจะเจริญและพัฒนาเป็นดอกเห็ดได้ดี ดังนั้นผู้เพาะเห็ดฟางควรควบคุมอุณหภูมิในช่วงดังกล่าวให้ดี เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อการเพาะเห็ดฟางได้
การแก้ปัญหาอุณหภูมิสูงเกินไป
1. เปิดประตูหรือเปิดช่องด้านข้างของโรงเรือน เพื่อระบายอากาศออกจากโรงเรือนควรเปิดให้อากาศระบายออกอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้เชื้อเห็ดฟางชะงักการเจริญเติบโต
2. รดน้ำบนพื้นโรงเรือนเพื่อให้เกิดความชื้นมากขึ้น ก็ช่วยลดอุฯหภูมิลงได้
3. ใช้พัดลมเป่าภายในโรงเรือน เมื่ออุณหภูมิลดลงในระดับที่เหมาะสมแล้วค่อยปิดพัดลม
4. ใช้สปริงเกอร์ฉีดพ่นเป็นละอองฝอยฉีดพ่นภายในโรงเรือน
5. ใช้ตาข่ายสีดำบังแสงแดดทางด้านทิศตะวันตก
การแก้ปัญหาอุณหภูมิต่ำเกินไป
1. ให้วางถุงเห็ดฟางติดกับพื้นดิน อุณหภูมิของดินจะช่วยให้อุณหภูมิในถุงเพิ่มขึ้นได้
2. การขุดดินต่ำลงกว่าระดับปกติวางถุงเพาะเห็ดฟางลงในหลุมนั้น อุณหภูมิของดินจะทำให้อุณหภูมิภายในถุงเพาะเห็ดฟางสูงขึ้นได้
3. ติดหลอดไฟภายในโรงเรือน
4. ใช้เครื่องทำความร้อน

2.ความชื้น
ความชื้นของวัสดุเพาะเห็ดฟางควรอยู่ที่ระดับ 60-65 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นภายในโรงเรือนควรมีระดับ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ผู้เพาะเห็ดฟางควรติดตั้งไฮโดรมิเตอร์ เพื่อวัดระดับความชื้นภายในโรงเรือน ความชื้นในวัสดุเพาะเห็ดฟางที่สูงเกินไป แก้ไขปัญหาโดยการเปิดถุงออกให้ความชื้นระเหยออก ประมาณ 1-3 ชั่วโมง แล้วปิดปากถุงไว้เช่นเดิม แต่ถ้าวัสดุเพาะเห็ดฟางแห้งเกินไปควรใช้กระบอกฉีดน้ำพ่นเป็นละอองฝอย แต่ห้ามใช้บัวรดน้ำเพราะจะทำให้เส้นใยเห็ดฟางขาด เส้นใยไม่เจริญเติบโตเน่าเสียได้ง่าย หรือแก้ไขโดยรดน้ำด้วยบัวไปที่ผิวภายนอกที่ถุงเพาะนั้น รดแบบผ่านไปเร็วๆ 2-3 ครั้ง ให้ทั่ว

การระบายอากาศภายในถุงเพาะเห็ดฟาง
เป็นการช่วยเห็ดฟางได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ จะทำในช่วงวันที่ 4 ของการเพาะเห็ดฟางในถุง ของฤดูร้อนหรือฤดูฝน ส่วนฤดูหนาวเป็นช่วงวันที่ 5-6 หรือสังเกตความหนาแน่ของเส้นใยเห็ดฟาง มีความหนาแน่นน้อย หรือเจริญแบบบางเกินไป ควรยืดเวลาออกไป 1-2 วัน การระบายอากาศทำได้โดยระบายอากาศในช่วงเย็น ½-1 ชั่วโมงในช่วงเย็น

การให้น้ำเพื่อตัดเส้นใยของเชื้อเห็ดฟาง
ใช้บัวรดน้ำแบบฝอยละเอียดรดไปยังวัสดุเพาะเห็ดฟาง แบบผ่านไปมาค่อนข้างเร็ว 2-3 ครั้ง หรือใช้กระปุกฉีดน้ำเป็นละอองฝอย ฉีดพ่นไปยังวัสดุเพาะเห็ดฟาง ประมาณ 3-5 ครั้ง ทำให้เชื้อเห็ดฟางขาดทำให้เชื้อเห็ดฟางพัฒนาเป็นดอกเห็ดได้มากขึ้น ควรทำต่อเนื่องจากการระบายอากาศไปเลย

การเก็บเกี่ยวดอกเห็ดฟาง
ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวดอกเห็ด การเพาะเห็ดฟางในถุงมักให้ผลผลิตช้ากว่าการเพาะเห็ดฟางแบบเดิม 1-2 วัน คือ ในฤดูร้อนและฤดูฝน ดอกเห็ดฟางจะเจริญเติบโตมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวได้ประมาณวันที่ 9-10 แต่ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น การเพาะเห็ดฟางในถุงจะมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น 1-2 วัน คือเก็บเกี่ยวได้ในช่วงวันที่ 7-8 ของการเพาะเห็ดฟางในถุง ถ้าอุณหภูมิต่ำลงจะมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวได้ ช้าลง 1-2 วัน คือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในวันที่ 11-12 ของการเพาะเห็ดฟางในถุง
การเพาะเห็ดฟางในถุงยังมีรายละเอียดอีกมากมาย ขอให้ผู้สนใจศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนลงมือปฏิบัตินะครับ
การใช้พลายแก้วกำจัดโรคเห็ด
ไรขาวใหญ่
การกำจัดไรเห็ด
ปัญหาการเพาะเห็ดฟาง
ราเขียวเพนนิซีเลียมและเพซีโลไมซีส
การเพาะเห็ดในโอ่ง
จุลินทรีย์กำจัดเพลี้ย
ราสีส้ม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คุณสุพจน์ 082-711-9399 E- mail: Sup.hot@hotmail.com
ชื่อบัญชี สุพจน์ แวงภูลา
ธนาคารกรุงไทย สาขาศรีราชาบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 208-1-95042-1
ที่มา:อาจารย์สำเนาว์ ฤทธิ์นุช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น