กาแฟกับสุขภาพ


กาแฟกับสุขภาพ ออกฤทธิ์อย่างไรต่อร่างกายมนุษย์ และมีผลต่อสุขภาพอย่างไร

กาแฟได้ผสมผสานกับวัฒนธรรมของมนุษยชาติ จนกลายเป็นเครื่องดื่มทรงอิทธิพลและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน จากการสำรวจพบว่า อเมริกันชนทั่วไปดื่มกาแฟเฉลี่ยวันละ 2.5 แก้ว แต่กลุ่มคนทำงานจะดื่มมากขึ้นเป็น 4 แก้วต่อวัน แต่ก็ยังมีคำถามที่ถกเถียงกันมาตลอดว่า กลไกของกาแฟออกฤทธิ์อย่างไรต่อร่างกายมนุษย์ และมีผลต่อสุขภาพอย่างไร

“กาเฟอีน” สารสำคัญในเมล็ดกาแฟ
นอกจากรสชาติและกลิ่นหอมเฉพาะตัวแล้ว กาแฟมีส่วนผสมที่สำคัญอีกอย่างที่เรียกว่า “กาเฟอีน” ซึ่งมีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทให้ตื่นตัว เมื่อกาเฟอีนถูกดูดซึมผ่านไปยังกระแสเลือดและไหลเวียนไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย จะเกิดการกระตุ้นการทำงานของหัวใจ หลอดเลือด รวมถึงสมองและระบบประสาท การดื่มกาแฟจึงเปรียบเสมือนการเติมพลังงานให้ร่างกายเกิดความตื่นตัวในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในยามที่ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลียและต้องการพักผ่อน ซึ่งในเวลานั้นสมองของมนุษย์จะหลั่งสารสื่อประสาทติดต่อระหว่างเซลล์ประสาท ชื่อ “adenosine (อะ-ดิ-โน-ซีน)” ออกมา แต่พอเราดื่มกาแฟเข้าไป กาเฟอีนจะไปยับยั้งการทำงานของ adenosine ทำให้สมองเกิดอาการตื่นตัว ไม่ง่วงนอน นอกจากนี้กาเฟอีนยังมีผลต่อระบบขับถ่ายของเสียอีกด้วย

ผลต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด
คำถามเกี่ยวกับผลของกาแฟต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดมีมานานกว่าศตวรรษ ขณะที่ผลจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่า กาแฟมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ 2-4 ชั่วโมงหลังดื่มกาแฟ ขณะที่การศึกษาผลเสียต่อความดันโลหิตในระยะยาวจากกาแฟกลับพบว่า ไม่ได้มีผลเสียอย่างที่หลายๆ คนคิด เนื่องจากร่างกายจะมีการปรับตัวให้เกิดเคยชินกับฤทธิ์ของสารกาเฟอีนได้ในระยะยาว การดื่มกาแฟจึงไม่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูงแต่อย่างใด

ส่วนผลของกาแฟต่อการทำงานของหัวใจก็ได้มีการศึกษาเช่นเดียวกัน โดยนายแพทย์ Greenberg จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งกล่าวว่า “ผมรู้ว่าหลายคนกลัวว่าการกระตุ้นการทำงานของหัวใจจากการดื่มกาแฟระยะยาวอาจจะทำให้หัวใจเหนื่อยล้า จนอาจเกิดโรคหัวใจวายขึ้นสักวัน แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามคือ คนที่ดื่มกาแฟในระยะยาวเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ดื่มเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้ที่ดื่มกาแฟมากกว่า 2 แก้วต่อวัน”

แม้ว่าผลลัพธ์ที่ได้อาจจะทำให้นักดื่มกาแฟกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ แต่นี่เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้นเท่านั้น ที่สำคัญฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจและความดันระยะสั้นของกาแฟอาจทำให้ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมได้ไม่ดี หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีอาการกำเริบได้

ผลต่อระบบประสาทและสมอง
การเพิ่มความตื่นตัว คลายง่วง และเพิ่มพลังความคิดของกาแฟเป็นผลที่บุคคลหลากหลายอาชีพต้องการ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาเตรียมสอบที่ต้องการอ่านหนังสือข้ามคืน แม่ค้าที่อยากให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าเวลาทำงาน หรือสถาปนิกที่อยากให้สมองโปร่งเพื่อคิดหาไอเดียใหม่ๆ แต่การดื่มกาแฟทำให้การตื่นตัวและประสิทธิภาพการทำงานของสมองดีขึ้นจริงหรือ

การศึกษาโดยสถาบันวิจัยกองทัพแห่งสหรัฐอเมริกาได้พิสูจน์แล้วว่า กาแฟทำให้สมองมีความตื่นตัวและตอบสนองได้ฉับไวมากขึ้น แต่ผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองยังเป็นที่กังขาอยู่ นายแพทย์ Bennett Alan Weinberg ผู้แต่งหนังสือเรื่อง “โลกของกาเฟอีน” ได้กล่าวสรุปไว้ว่า “แม้ว่ากาแฟจะช่วยให้นักศึกษาจำนวนมาก อ่านหนังสือได้ทนทานขึ้นก็ตาม แต่ผลสรุปจากการทดลองต่าง ๆ ไม่ได้บ่งชี้ว่านักศึกษาเหล่านั้นมีความจำหรือการทำงานของสมองดีขึ้นแต่อย่างใด”

คำกล่าวนี้เป็นการยืนยันว่า กาแฟเพียงแต่ทำให้หายง่วงนอนเท่านั้น ขณะที่ความจำและประสิทธิภาพสมองไม่ได้ดีขึ้นด้วยฤทธิ์ของกาแฟ นอกจากนี้การใช้กาแฟเพื่อลดอาการง่วงนอนในเวลากลางคืนอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ร่างกายและสมองที่ต้องการพักผ่อนทรุดโทรมลง ประสิทธิภาพการทำงานจึงลดลงในระยะยาว ยิ่งกว่านั้นในบางกรณี ผู้ดื่มอาจจะมีอาการตอบสนองต่อกาแฟมากกว่าปกติ จนทำให้เกิดอาการใจสั่น หงุดหงิด กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก เครียดง่าย เป็นต้น

ผลต่อการลดน้ำหนัก
ผู้หญิงส่วนใหญ่ใฝ่ฝันอยากมีรูปร่างดี อันหมายถึงทรวดทรงองค์เอวที่ผอมเพรียวจึงลดน้ำหนักสารพัดวิธี รวมถึงการใช้ยา หรือหลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องกาแฟลดน้ำหนักมาบ้าง แล้วกาแฟช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ
กาแฟมีส่วนช่วยให้เกิดการเผาผลาญพลังงาน ผ่านการเปลี่ยนไขมันไปเป็นเชื้อเพลิงและกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและร่างกาย ยิ่งกว่านั้นกาแฟยังช่วยลดความอยากอาหาร แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากว่า กาแฟช่วยลดน้ำหนัก

เด็กดื่มกาแฟปลอดภัยหรือไม่?
เด็กและวัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงและเติบโต ทั้งในด้านสรีระ สติปัญญาและสมอง แต่อิทธิพลของการโฆษณากาแฟที่มีให้เห็นอยู่มากมาย ทำให้เด็กและวัยรุ่นดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความกังวลตามมา จริงอยู่ที่เด็กจะมีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีนชนิดอื่นอย่าง น้ำอัดลมโคล่า เครื่องดื่มช็อกโกแลต หรือโกโก้อยู่แล้ว แต่ในเครื่องดื่มเหล่านี้มีปริมาณกาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟถึง 4 เท่า ดังนั้นการดื่มกาแฟเป็นประจำคงไม่เกิดผลดีต่อร่างกายของเด็ก ดังผลการเปรียบเทียบขนาดของร่างกายต่อระดับกาแฟที่ดื่มเข้าไปพบว่า กาแฟ 1 แก้วจะมีผลต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ รวมถึงมีผลการศึกษาพบด้วยว่า แม้กาแฟจะส่งผลให้เด็กมีความสนใจและจดจ่อในสิ่งที่ทำมากขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

เมื่อยาคือกาแฟ
การค้นพบประสิทธิภาพในการรักษาโรคของกาแฟเกิดขึ้นโดยบังเอิญ จากการสังเกตของผู้ป่วยที่ดื่มกาแฟแล้วพบว่า กาแฟสามารถบรรเทาอาการป่วยของตนเองได้ โรคที่รู้จักกันดีว่าสามารถใช้กาแฟในการรักษาได้ คือ โรคปวดศีรษะไมเกรน และโรคหอบหืด รวมถึงยังเชื่อว่า กาแฟมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคพาร์กินสันได้

สาเหตุของไมเกรนเกิดจากประสาทส่วนกลางมีความไวผิดปกติ จนก่อให้เกิดอาการปวดจากการเต้นของเส้นเลือดที่เลี้ยงผิวเยื่อหุ้มสมอง ขณะที่สารกาเฟอีนในกาแฟมีความสามารถในการผ่านเข้าไปในสมองอย่างง่ายดายแล้วออกฤทธิ์ให้เส้นเลือดที่กำลังขยายตัวอยู่หดตัว จึงช่วยลดอาการปวดศีรษะไมเกรนในระยะเฉียบพลันได้ ผลดังกล่าวจึงทำให้สารกาเฟอีน ที่อยู่ในกาแฟถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยาแก้ปวดไมเกรนในระยะเฉียบพลัน เช่นยา Ergotamine แต่ต้องมีการใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากผลในการทำให้เส้นเลือดหดตัวนั้น อาจก่อให้เกิดผลเสียกับผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ นอกจากนี้ หากใช้ยาเกินสัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นระยะเวลาเกิน 1 เดือน ผลของยาจะทำให้สมองมีความไวสูงและเป็นผลให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรังยิ่งขึ้น



ส่วนฤทธิ์ของกาเฟอีนในการขยายหลอดลม จนทำให้มีการใช้กาแฟรักษาโรคหอบหืดในสมัยก่อนนั้น ก็มีปัญหาคือต้องใช้กาแฟในปริมาณสูง จึงมักเกิดผลข้างเคียงต่อสมองเสียก่อน ประกอบกับในปัจจุบันมียารักษาโรคหอบหืดที่มีประสิทธิภาพดีและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ากาเฟอีนมาก กาแฟจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีในการรักษาโรคหอบหืดอีกต่อไป

สำหรับผลของกาแฟต่อโรคพาร์กินสันและโรคสมองเสื่อมนั้น เพิ่งมีรายงานอันน่าทึ่งออกมาว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟมีอัตราการเกิดโรคพาร์กินสันและสมองเสื่อมน้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟ แม้ว่าข้อสรุปนี้ยังต้องได้รับการพิสูจน์ให้แน่ชัดต่อไป แต่ผลที่ได้ก็เป็นเหมือนกับความหวังใหม่ในการป้องกันโรคที่ยากต่อการรักษา

ผลเสียของการดื่มกาแฟ
แม้ว่ากาแฟจะมีผลดีมากมายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทจะทำให้ผู้ป่วยที่มีระดับความเครียดที่สูงขึ้น การดื่มกาแฟจึงจะกระตุ้นให้คนที่มีความเครียดง่ายอยู่แล้วเกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กาแฟยังเป็นสารเสพติดอ่อนๆ ชนิดหนึ่ง ร่างกายจึงเกิดอาการติดกาแฟหากว่าดื่มทุกวันเป็นเวลานานพอ และจะเกิดภาวะขาดกาแฟหากไม่ได้ดื่ม ซึ่งทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่อยากทำงาน ซึมเศร้า ปวดศีรษะ อย่างไรก็ตาม ผลดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างถาวร แต่จะค่อยๆ หายไปหลังหยุดกาแฟไม่เกิน 1-2 สัปดาห์

ทราบถึงผลดีและผลเสียกันแล้ว ต่อไปคุณจะได้ดื่มกาแฟได้อย่างปลอดภัย

การใช้พลายแก้วกำจัดโรคเห็ด
ไรขาวใหญ่
การกำจัดไรเห็ด
ปัญหาการเพาะเห็ดฟาง
ราเขียวเพนนิซีเลียมและเพซีโลไมซีส
การเพาะเห็ดในโอ่ง
จุลินทรีย์กำจัดเพลี้ย
ราสีส้ม
แร่ธาตุกระตุ้นดอกเห็ด

ที่มา:ธนัญญา กีรติสุนทร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น